สารพัดอาการของ “โรคกังวล”

เครียด นอนไม่หลับ หงุดหงิด เหนื่อยง่าย ฯลฯ

"สภาพสังคมในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความกดดันในทุกๆ ด้าน ทำให้โรคกังวลกลายเป็นโรคฮิตที่บั่นทอนสุขภาพของคนทุกระดับการศึกษาและฐานะ ผู้ป่วยที่เป็นโรคกังวลจะมีลักษณะเฉพาะ อ มีความวิตกกังวลเป็นอาการสำคัญร่วมกับอาการทางร่างกายเกือบทุกระบบ แต่ถ้าไปตรวจที่โรงพยาบาลมักจะไม่พบสิ่งผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยยิ่งวิตกกังวลและหงุดหงิดเข้าไปใหญ่..."

โรคกังวลมีอาการอย่างไร...
- ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน หรือจากสาเหตุเล็กน้อยที่ไม่สมเหตุสมผล หรือวิตกกังวลเกินเหตุ
- นอนหลับยากและมักจะมีอาการฝันร้ายบ่อย
- หงุดหงิด โมโหง่าย ไม่มีสมาธิ ตื่นเต้น ตกใจง่าย
- มีอาการใจสั่น ใจหวิว เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ปวดมึนศีรษะ หน้ามืดง่าย เบื่ออาหาร ชาหรือวูบวาบตามตัวและแขนขา เหงื่อออกง่าย
- อาจมีอาการหายใจไม่ทั่วท้อง ทำให้ต้องถอนหายใจบ่อย รู้สึกมีอะไรจุกอยู่ที่คอหอย จะกลืนก็ไม่ลง จะคายก็ไม่ออก
- อาจรู้สึกร้อนในช่องอก
- ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องผูกหรือถ่ายเหลวบ่อย
- บางรายอาจมีความกลัว เช่น กลัวตาย กลัวเป็นโรคหัวใจ โรคกระเพาะหรือมะเร็ง เป็นต้น

ใครบ้างมีโอกาสเป็นโรคกังวลได้มากกว่า...
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
- ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่หวาดหวั่น วิตกกังวลง่าย คิดมากหรือขี้อาย
- ผู้ที่มีความเครียดทางจิตใจ เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ หน้าที่การงาน การเรียน หรือมีการสูญเสียของคนใกล้ชิด เป็นต้น

สาเหตุโรคกังวลในทัศนะการแพทย์จีน...
ในทรรศนะการแพทย์จีน สุขภาพทางจิตอารมณ์ของคนเราได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากสุขภาพกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพของตับ มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ การแพทย์จีนจึงได้จัดโรคกังวลให้อยู่ในกลุ่มโรคที่เกิดจากพลังชี่อั้นในตับ

ในทัศนะการแพทย์จีน หนึ่งในหน้าที่สำคัญของตับ คือ การระบายพลังชี่ให้กระจายไปสู่ทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ตับและอวัยวะอื่นๆ ทำงานได้ปกติ แต่ความสามารถในการระบายพลังชี่ของตับจะค่อยๆ ลดลงเมื่ออายุย่างเข้า 30 - 35 ปี ซึ่งเป็นไปตามความเสื่อมของร่างกายจึงส่งผลให้พลังชี่ถูกอั้นไว้ในตับ เลือดและพลังชี่ก็จะไหลเวียนไม่คล่องตัว ทำให้เส้นลมปราณตับสะดุดและติดขัด

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จะเร่งให้เกิด ภาวะพลังชี่อั้นในตับ เร็วขึ้นและรุ่นแรงขึ้น ภาวะพลังชี่อั้นในตับนอกจากจะทำให้คนเราตกอยู่ในความรู้สึกด้านลบ และมีอารมณ์แปรปรวนเป็นประจำแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของกระเพาะอาหาร ม้าม หัวใจ ไตและอวัยวะอื่นๆ ด้วย

หากเส้นลมปราณตับส่วนบน ที่เดินผ่าสมองเกิดการติดขัด ก็จะทำให้สมองผลิตสารเคมีทั้งหลายที่ทำให้คนเราไม่เครียดและรู้สึกอารมณ์ดีลดน้อยลง จึงเกิดความเครียด วิตกกังวล ขี้หงุดหงิด โกรธเกรี้ยว มีความรู้สึกอ่อนไหว เปราะบาง หดหู่หรือซึมเศร้าได้ง่ายและบ่อยขึ้น และในทางกลับกัน ความรู้สึกด้านลบและอารมณ์ที่แปรปรวน ก็จะไปเพิ่มความรุนแรงของภาวะพลังชี่อั้นในตับ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สุขภาพร่างกายที่ไม่ดีจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ขณะเดียวกันสุขภาพจิตไม่ดีก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้เช่นกัน

นอกจากนี้ พลังชี่อั้นในตับยังทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามเส้นลมปราณตับ เช่น เบื่ออาหาร ท้องอืดท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย รู้สึกมีอะไรจุกอยู่ในคอหอย จะกลืนก็ไม่ลง จะคายก็ไม่ออก ปวดแน่น บริเวณชายโครงด้านขวา ปวดท้องน้อย ปวดประจำเดือน รู้สึกปวดหน่วงอัณฑะ มีฝ้าฮอร์โมนบนใบหน้า เจ็บหรือคัดเต้านม เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในเต้านม ตับและมดลูก เป็นต้น

การแพทย์จีนจะมีวิธีบำบัดอย่างไร...
สำหรับผู้ป่วยโรคกังวลหรืออาการอื่นๆ จากภาวะพลังชี่อั้นในตับ การแพทย์จีนแนะนำสิ่งที่ควรปฏิบัติในเบื้องต้น คือ พยายามควบคุมอารมณ์ ทำจิตใจให้แจ่มใส มองโลกในแง่ดีและออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ พร้อมทั้งควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้ถูกสุขลักษณะ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าทำงานหักโหมเกินไป งดเหล้า บุหรี่และลดอาหารเผ็ด มัน เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีอาการแล้วโดยเฉพาะผู้ที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน การปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวย่อมไม่เพียงพอ การแพทย์จีนนิยมใช้การปรับและระบายพลังชี่อั้นในตับ ทำให้ตับสามารถระบายพลังชี่ให้กระจายไปสู่ทั่วทั้งร่างกาย อาการเครียด วิตกกังวลและอาการอื่นๆ ของโรคกังวลจึงค่อยๆ ทุเลาลงหรืออาจหายไปในที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

อ้างอิง
* http://www.thaihealth.or.th/node/9145