อาการร้อนในในทรรศนะของแพทย์ตะวันออกนั้น สิ่งแรกที่จะแสดงให้เราทราบก็คือ การถ่ายอุจจาระ ซึ่งในภาวะปกติ คนทั่วไปจะมีอุจจาระเป็นสีเหลือง แต่พอเริ่มมีอาการร้อนใน อุจจาระมักจะมีสีน้ำตาลนิด ๆ มีลักษณะคล้ายครีม ซึ่งแสดงว่าเกิดการขัดแย้งภายในขึ้นแล้ว และที่สุดจะมีอาการเจ็บคอ คอแห้ง ถ้าเป็นมากจะทำให้ท้องผูก ขี้ตาแฉะ
สาเหตุที่จะทำให้เกิดอาการร้อนใน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
* ประการแรก คือ ร่างกายของคนมีลักษณะยิน (เย็น) เป็นหยาง (ร้อน) ต่างกัน เช่น ถ้าคนมีลักษณะเป็นหยางมากกว่ายิน แล้วไปกินอาหารที่เป็นหยางเข้าไปก็เท่ากับทำให้ลักษณะ หยางในร่างกายเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นโรคหยาง ซึ่งก็คือเกิดอาการร้อนในนั้นเอง
* ประการที่สอง คือ เรื่องของอาหารในทรรศนะของจีนก็แบ่งเป็นยินและหยาง โดยที่อาหารประเภทหยางมักจะมีรสเผ็ด รสที่ค่อนข้างจัดหรือว่าเข้มข้น หรืออาหารทอดทุกประเภท ถ้าเป็นพวกผลไม้ก็เช่น เงาะ ทะเรียน ลิ้นจี่ หรือข้าวเหนียว นี้ถือว่าเป็นหยางหมด ส่วนอาหารประเภทยิน ก็คืออาหารชนิดที่กินเข้าไปแล้วทำให้รู้สึกชุ่มคอ รู้สึกสบาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกผักชนิดต่างๆ
* ประการที่สาม คือ อากาศซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า 2 สาเหตุข้างต้น ก็คือฤดูกาลที่เปลี่ยนไป มักจะมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดยินกับหยางในลักษณะที่ต่างกัน เช่น ฤดูร้อนความเป็นหยางจะสูงเพราะอากาศร้อน ถ้าหากร่างกายเป็นหยาง กินอาหารหยาง แล้วก็มาเจอหน้าร้อนเป็นหยางเข้า ก็จะทำให้อาการร้อนในแสดงได้มากและเด่นชัดขึ้น
วิธีป้องกัน
วิธีจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้อนใน ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันให้เหมาะสม นั่นคือท่านจะต้องรู้ร่างกายของตัวเองก่อนว่าเป็นยินหรือเป็นหยางมากกว่ากัน ตอนนี้อากาศเป็นอย่างไร จะกินอาหารอะไร จึงจะสอดคล้องกัน คือพยายามปรับสมดุลให้ได้ อาการร้อนในก็จะไม่เกิดขึ้น
อาการร้อนใน ร้อนในคืออะไร
ร้อนในเป็นกลุ่มอาการทางสุขภาพที่ผิดจากปกติหลายๆ อย่าง ร้อนในมิได้หมายถึงอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นแต่อย่างใด อาการตัวร้อนอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับร้อนในก็ได้ อาการร้อนใน มีผู้เข้าใจว่าเป็นเพียงอาการที่ในปากเป็นแผล ลักษณะเป็นดวงหรือจุดขาวใหญ่เท่าหรือใหญ่กว่าเม็ดถั่วเขียว และเจ็บที่แผลแบบปวดแสบปวดร้อน ซึ่งก็ถูกต้องแต่เป็นเพียงส่วนน้อยของคำว่าร้อนใน ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการร้อนใน โดยทั่วไปเกิดจากการรับประทานอาหารเผ็ด มัน รสจัด หรือย่อยยาก เช่น แกงเผ็ด ส้มตำ ข้าวเหนียว ขนุน ลำใย เป็นต้น
อาการร้อนในเป็นกลุ่มอาการที่แสดงออกดังนี้
ตาแฉะมีขี้ตามากหลังตื่นนอน / เจ็บที่เหงือก เหงือกเป็นแผล กระพุ้งแก้มด้านใน ริมฝีปากด้านในเป็นแผล / ลิ้นแตก เป็นแผล / ลมหายใจร้อน / คอแห้ง ปากขม กระหายน้ำ / เจ็บคอ บางครั้งมีอาการไอ (ไอร้อน) มีเสมหะเหลืองข้น / เมื่อยตามตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว รู้สึกรุม ๆ คล้ายจะเป็นไข้ / ท้องผูก ถ่ายค่อนข้างลำบาก
มีอาการบางอย่างซึ่งไม่ใช้ร้อนในแต่เข้าใจผิด ว่าเป็นอาการร้อนใน เช่น
ตัวร้อนมากเป็นไข้สูง / ไข้ทับระดู / คันคอ ไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ไม่กระหายน้ำ (ไอเย็น) / ปากจืด ลิ้นมีฝ้าขาว / คออักเสบ / ไอมาก หลังเป็นหวัด / เป็นหวัด น้ำมูกไหล หรือน้ำมูกคั่งจมูก / ปวดหัวเนื่องจากหวัด / ท้องอืด ท้องเฟ้อ
สำหรับคนที่มีอาการร้อนในไม่มาก
วิธีแก้ไขคือ การกินอาหารบางอย่างเข้าไปก็ช่วยได้ อย่าพวก มะระ ฟักเขียว ผักต่างๆ ซึ่งอาจจะนำมาต้มเป็นน้ำแกง โดยใส่เนื้อต่างๆ ลงไปด้วย หรือจะลวกกินก็ได้
เมื่อรู้หลักการหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแล้ว ท่านก็สามารถจะกินอาหารทุกชนิด ทุกอย่าง ได้โดยไม่มีปัญหา
ตัวอย่างอาหารที่มีลักษณะเป็นยิน
ปู เป็ด ห่าน กล้วย ถั่วเขียว เต้าหู้ แตงกวา ส้ม สาลี่ ฟักทอง เกลือ ผักโขม อ้อย ส้มจีน แตงโม มะเขือเทศ คึ่นฉ่าย น้ำมะพร้าว องุ่น มะกอก สับปะรด ผักกาดหอม ลูกพลับ เม็ดแมงลัก ฟัก
ตัวอย่างอาหารที่มีลักษณะเป็นหยาง
เนื้อวัว หมู ไก่ แพะ สุนัข งู เกาลัด พริก กระเทียม ขิง หอม พริกไทย ใบโหระพา ใบแมงลัก ทุเรียน ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ เนื้อมะพร้าว
ที่มา: ลลนา เล่มที่ 485 ปักษ์หลัง มีนาคม 2536 หน้า 153-155