โอ๊ย ! ทำไมจู่ๆ ก็เกิดอาการเจ็บแปล๊บที่ขา แถมรู้สึกชาๆ อีกต่างหาก นี่จะเป็นสัญญาณอันตรายของโรคอะไรหรือเปล่า?...
อาการเจ็บโดยปัจจุบันทันด่วนนี้เป็นได้ทั้งสองกรณี คือ เกิดจากอาการเหน็บชาหรือเป็นตะคริว ซึ่งหลายคนอาจแยกความแตกต่างไม่ออก รวมทั้งสงสัยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะป้องกันได้ด้วยวิธีใด เรามีคำตอบให้คุณทุกคำถาม
"เหน็บชา" เกิดได้อย่างไร
อาการเหน็บชาเกิดขึ้นเมื่อมีแรงกดทับส่วนใดส่วนหนึ่งบนแขนหรือขา ทำให้เส้นเลือดไม่สามารถนำออกซิเจนและน้ำตาลกลูโคสไปยังเนื้อเยื่อหรือเส้นประสาทได้ มีผลคือ เส้นประสาทไม่สามารถสื่อสัญญาณไปยังสมอง จึงทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บจี๊ดเหมือนถูกเข็มแทง
การป้องกัน
การขาดสารอาหารบางชนิดอาจมีส่วนทำให้เกิดอาการเหน็บชาได้ ดังนั้นผู้ที่มีอาการเหน็บชาเป็นประจำ ควรกินอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 1 จำพวกเมล็ดข้าวต่างๆ ที่ไม่ขัดขาว เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวแดง หรือข้าวโอ๊ต เนื้อหมู ตับ ไข่ ถั่ว มันเทศ รำข้าว และกินวิตามินบี 1 ปริมาณ 30 - 100 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งอาจใช้เวลา 1 - 2 เดือนกว่าอาการจะดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่ทุเลา ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ที่มีปัจจัยสัมพันธ์กับอาการเหน็บชา เช่น โรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาหรือภาวะอุดตันของหลอดเลือด
"ตะคริว" เกิดได้อย่างไร
อาการกล้ามเนื้อเกร็งแข็งและปวดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นอยู่เพียงไม่กี่วินาทีมักเกิดบริเวณกล้ามเนื้อน่องและต้นขา มีสาเหตุจากการออกกำลังกายอย่างหนักโดยไม่ได้วอร์มอัพ นอน นั่ง หรือยืนในท่าที่ไม่สะดวกนานๆ (ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก) มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก ร่างกายสูญเสียเกลือโซเดียมเนื่องจากเหงื่อออกมาก ท้องเดิน อาเจียน
* ในกรณีเกิดตะคริวที่น่อง จะเกิดอาการเกร็ง ปลายเท้าจิกชี้ลงพื้นดิน ให้เหยียดหัวเข่าตรงและกระดกปลายเท้าขึ้นช้าๆ อาจเอื้อมมือไปดึงปลายเท้าเข้าหาตัว ค้างไว้ประมาณ 1-2 นาที
* ตะคริวที่ต้นขา ให้เหยียดเข่าตรง ยกเท้าขึ้นจากพื้นเล็กน้อย กดปลายเท้าลง ไม่ควรบีบนวดแรงๆ ขณะที่กล้ามเนื้อกำลังเกร็งตัว ให้รอจนกล้ามเนื้อคลายตัวแล้วจึงค่อยบีบนวด ไล่จากเอ็นร้อยหวายขึ้นมาจนถึงข้อเข่า จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดกลับไปสู่หัวใจดีขึ้น
* ตะคริวขณะนอน ก่อนนอนควรดื่มนมอุ่น และใช้หมอนรองขาให้สูงขึ้นจากเตียง 4 นิ้ว
* ตะคริวจากร่างกายเสียเกลือโซเดียม ให้ดื่มน้ำเกลือแร่
การป้องกัน
1. ยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ เพื่อลดโอกาสเกิดตะคริว โดยกระดกเท้าขึ้นลง มือแตะปลายเท้าขณะเหยียดเข่า ปั่นจักรยานอยู่กับที่
2. ใส่ถุงเท้าตอนนอนเพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศเย็น
3. กินอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม ปลาตัวเล็กที่กินได้ทั้งก้าง ฯลฯ อาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น ถั่วเมล็ดต่างๆ ซึ่งช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ส้ม
4. ผู้สูงอายุหรือหญิงตั้งครรภ์ที่มักเป็นตะคริวเวลานอน อาจแก้ไขด้วยการกินอาหารประเภทปลา ไข่ ในมื้อเย็น หรือดื่มนมก่อนนอน
Tip
ลูกเดือย เป็นธัญพืชที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง บำรุงม้ามและปอด หล่อลื่นกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้บวมน้ำปวดข้อเรื้อรัง อีกทั้งมีฟอสฟอรัสสูงและมีวิตามินบี 1 มากกว่าข้าวกล้อง จึงช่วยบรรเทาอาการเหน็บชาได้ ข้อดีล้นเหลือ แถมราคาไม่แพงอย่างนี้ ชาวจีนจึงถือว่าลูกเดือยเป็นอาหารอายุวัฒนะที่ควรกินเป็นประจำ
ที่มา: http://www.kbeautifullife.com/health_wellness