ปวดคอ

สาเหตุที่พบบ่อย
1. กล้ามเนื้ออักเสบ หรือ กล้ามเนื้อเคล็ด ซึ่ง มักเกิดจาก อิริยาบถ หรือ ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การแหงนหน้า หรือ ก้มหน้าเป็นเวลานาน นอนในท่าที่คอพับ หรือ บิดไปข้างใดข้างหนึ่ง นอนหนุนหมอนที่สูง หรือ แข็งเกินไป
2. ความเครียด ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง เกิดอาการปวดต้นคอ ท้ายทอยหรือขมับ มักมีอาการช่วงบ่าย หรือ ตอนเย็น
3. อุบัติเหตุ ทำให้คอเคลื่อนไหวมากหรือเร็วกว่าปกติ อาจจะเกิดกล้ามเนื้อ / เส้นเอ็นฉีกขาด หรือ กระดูกคอเคลื่อน
4. หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาท หรือ กดทับไขสันหลัง ทำให้มีอาการปวดร้าวไปที่ไหล่ แขน และมือ มีอาการชา หรือ กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง เวลาเดินรู้สึกว่าขาสั่น เดินเซ หรือ ขากระตุกบางครั้งอาจมีอาการ กลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้ ทำให้มีอุจจาระ หรือปัสสาวะราด ร่วมด้วย
5. กระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท หรือ กดทับไขสันหลัง พบบ่อยในผู้สูงอายุ แต่ผู้สูงอายุบางคนเท่านั้นที่มีอาการมากจนต้องรับการรักษา ถ้าเอ๊กซเรย์กระดูกคอในผู้สูงอายุก็จะพบว่ามีกระดูกงอกได้ โดยไม่มีอาการผิดปกติ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ในผู้ป่วยทุกราย
6. ข้ออักเสบ เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นโรค รูมาตอยด์ เก๊าท์ โรคกระดูกสันหลังยึดติด การติดเชื้อแบททีเรีย เป็นต้น
7. กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ผู้ป่วยจะมีอาการปวดในกล้ามเนื้อและเมื่อใช้งานกล้ามเนื้อนั้นก็จะปวดมาก ขึ้นและรู้สึกอ่อนแรง มักจะมีจุดที่กดเจ็บชัดเจนและอาจคลำได้ก้อนพังผืดแข็ง ๆ ร่วมด้วย

การรักษาเบื้องต้น
1. ระวังอิริยาบถ หรือ ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง
* หลีกเลี่ยง การก้ม หรือ แหงน คอ นานเกินไป หรือ บ่อยเกินไป ถ้าจำเป็นก็ควรหยุดพักเป็นช่วง ๆ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อคอ หรือ ขยับเคลื่อนไหวคอเปลี่ยนอิริยาบถสัก 2 - 3 นาทีทุก ๆ ชั่วโมง
* ควรนอนบนที่นอนแข็งพอสมควร ไม่ควรนอนคว่ำอ่านหนังสือ หรือ ดูทีวี เพราะจะทำให้คอแหงนมาก
* นอนหนุนหมอนที่นุ่มและยืดหยุ่นพอที่จะแนบส่วนต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณส่วนโค้งของคอ และ มีความหนาพอเหมาะที่จะทำให้คออยู่ในแนวตรง ( เมื่อมองจากด้านข้าง ) ไม่ทำให้คอแหงนหรือก้มมากเกินไป
2. ประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำอุ่น อาจใช้ครีมนวด ร่วมด้วยแต่อย่านวดแรงเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อฟกช้ำมากขึ้น
3. รับประทานยา เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
4. ทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่มีอาการมาก รับประทานยาและบริหารกล้ามเนื้อ แล้วไม่ดีขึ้น เช่น
* ใส่เครื่องพยุงคอ ซึ่งควรใช้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะถ้าใช้ติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น
* ดึงถ่วงน้ำหนักกระดูกคอ
* ประคบบริเวณที่ปวดด้วย ความร้อน ความเย็น หรือ อัลตร้าซาวน์

ถ้าอาการต่อไปนี้ควรปรึกษาแพทย์
1. มีอาการปวดร้าวไปที่ไหล่ แขน หรือ มือ โดยอาจจะมีอาการชา หรือ กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
2. มีอาการ ขาชา หรือ ขาอ่อนแรง เวลาเดินรู้สึกว่าขาจะสั่น เดินเซ เดินแล้วจะล้ม หรือ รู้สึกขากระตุก
3. กลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้ ทำให้มีอุจจาระ หรือปัสสาวะราด
4. อาการไม่ดีขึ้น หรือ รู้สึกเป็นมากขึ้น เพราะโดยทั่วไป ถ้าเกิดจากสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง อาการมักจะดีขึ้นใน 2-3 วัน


การบริหารกล้ามเนื้อคอ

ข้อแนะนำเบื้องต้น
* ควรเริ่มทำภายหลังจากอาการปวดเริ่มทุเลาแล้ว
* ขณะบริหารถ้ามีอาการปวดมากขึ้นให้ลดจำนวนครั้งลง หรือหยุดพักการบริหารท่านั้นไว้ก่อน จนอาการปวดดีขึ้น แล้วจึงค่อยเริ่มทำใหม่ หรือ เพิ่มจำนวนครั้งให้มากขึ้น
* เมื่อเริ่มบริหาร ควรเริ่มด้วยจำนวนครั้งน้อย ๆ ถ้าไม่มีอาการปวดจึงค่อยเพิ่มจำนวนครั้งมากขึ้น
* ควรทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2-3 รอบ สามารถทำเวลาไหนก็ได้แล้วแต่สะดวก แต่ไม่ควร เร่งรีบ หรือ ทำอย่างรุนแรง เพราะอาจปวดมากขึ้นได้
* ระหว่างการบริหาร หรือ การเกร็งกล้ามเนื้อ อย่ากลั้นหายใจ ซึ่งป้องกันโดยให้ ออกเสียงนับดัง ๆ ขณะบริหาร
* ถ้ามีข้อสงสัย หรือ มีอาการปวดมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

1. ทำให้กล้ามเนื้อคอเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ทำท่าละ 10 ครั้ง
* ก้มและเงยหน้า ก้มหน้า พยายามให้คางแตะกับหน้าอก แล้วเงยหน้าขึ้น พยายามให้แหงนไปด้านหลังให้มากที่สุด
* ตะแคงซ้ายขวา หน้าตรง ตะแคงศีรษะไปด้านซ้าย มากที่สุด(ให้หูซ้ายจรดไหล่ซ้าย) โดยไม่ยกไหล่ แล้วกลับที่เดิม ทำสลับกับ ตะแคงศีรษะไปด้านขวา มากที่สุด(ให้หูขวาจรดไหล่ขวา) โดยไม่ยกไหล่
* หันหน้าซ้ายขวา หมุนศีรษะให้หน้าหันไปด้านซ้าย ให้ปลายคางอยู่ในแนวเดียวกับไหล่ซ้าย แล้วหมุนกลับไปด้านขวาให้ปลายคางอยู่ในแนวไหล่ขวา

2. ทำให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรงขึ้น ทำท่าละ 10 ครั้ง
ขณะบริหารจะต้องพยายามให้ คอและหน้าอยู่ในแนวตรง ไม่ก้มคอ หรือแหงนคอ
* ก้มคอ ใช้ฝ่ามือดันที่หน้าผากไปทางด้านหน้า ต้านกับ ความพยายามที่จะก้มศีรษะลง เกร็งค้างไว้ นับ 1 - 10
* เงยหน้า ใช้ฝ่ามือประสานกันที่บริเวณเหนือท้ายทอยแล้วดันมาข้างหน้า ต้านกับความพยายามที่จะแหงนหน้าไปข้างหลัง เกร็งค้างไว้ นับ 1 - 10
* ตะแคงศีรษะ ใช้ฝ่ามือซ้ายดันที่ข้างศีรษะเหนือหูซ้าย ต้านกับความพยายามที่จะตะแคงศีรษะไปด้านซ้าย เกร็งค้างไว้ นับ 1 - 10 แล้วสลับกับด้านขวา ทำแบบเดียวกัน
* หันหน้า ใช้ฝ่ามือซ้ายดันที่ข้างศีรษะหน้าหูซ้าย ต้านกับความพยายามที่จะหันหน้าไปด้านซ้าย เกร็งค้างไว้ นับ 1 - 10 แล้วสลับกับด้านขวา ทำแบบเดียวกัน


อ้างอิง
* http://www.bloggang.com