แนะเปิดใช้ไฟตัดหมอกให้ถูกวิธี

“ไฟตัดหมอก” ถือกำเนิดขึ้นมาในแถบประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง หรือแถบที่อากาศหนาวหรือประเทศที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยน้ำ ทำให้มีฝนตกบ่อยตลอดทั้งปี มีบรรยากาศที่ขมุกขมัวหรือมีหมอกเป็นส่วนมาก หรือมีหมอกมีฝนมากกว่าเวลาที่อากาศปลอดโปร่ง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยานพาหนะจึงมีการคิดค้นไฟตัดหมอกขึ้นมา

ไฟตัดหมอกจะใช้ไฟที่ให้ความสว่างสูง ส่วนใหญ่หลอดจะเป็นสปอตไลท์ ส่องในระนาบขนานกับพื้นถนนหรือตกพื้นในระยะไกล ดังนั้นความสว่างจึงมีมากและไปได้ไกล เพราะหลอดไฟหน้ามุมจะตกลงพื้นถนน แต่ไฟตัดหมอกจะส่องขนานไปกับพื้นถนนหรือตัวรถ หลอดไฟหน้าปกติถ้าเปิดส่องในขณะที่หมอกจัดหรือ ฝนตกหนักเพราะมุมที่เอียงลง จึงทำให้เกิดมุมสะท้อนกลับสู่สายตาของผู้ขับขี่ จึงทำให้แสงที่ส่องผ่านไปมีน้อยหรือมองเห็นแค่ในระยะไม่เกิน 10-15 เมตร แถมแสบตากับแสงที่สะท้อนกลับ แต่ไฟตัดหมอกที่ส่องแบบขนานพื้นจะไม่สะท้อนมาที่ห้องโดยสารสามารถทะลุทะลวง ได้มาก และสะท้อนกลับมาก็ในมุมที่ไม่กระทบผู้ขับขี่ ทำให้มองเห็นได้ในระยะมากกว่า 30-80 เมตร ในทำนองเดียวกันเมื่อพื้นถนนเปียกหรือฝนหยุดตกใหม่ๆในตอนกลางคืน ไฟหน้าปกติที่ส่องลงผิวถนนจะถูกพื้นน้ำสะท้อนออกไปในอีกมุมนึงบางครั้ง เหมือนกับว่าแทบจะมองไม่เห็นผิวถนนด้วยซ้ำไป แต่ไฟตัดหมอกที่แทบจะไม่ส่องลงพื้นถนนยังสามารถมองเห็นผิวถนนในระยะสายตาได้ อย่างชัดเจน ซึ่งในแถบประเทศเขตเมืองหนาวได้ออกกฏบังคับให้รถทุกคัน ต้องมีไฟตัดหมอกเป็นอุปกรณ์มาตรฐานความจริงไฟตัดหมอกมีมานานแล้ว แต่ในเมืองไทยยังไม่เป็นที่นิยมเพราะราคาแพงและไม่มีความจำเป็น จึงมีให้เห็นเฉพาะกับรถนำเข้าจากเขตเมืองหนาวหรือเขตเมืองที่อยู่สูงกว่า ระดับน้ำทะเลมากๆ เท่านั้น ต่อมาค่านิยมเริ่มเปลี่ยนไป เพราะการติดไฟตัดหมอกถือว่าเท่และทันสมัย ประกอบกับบราคาที่ถูกลงจึงมีการหาซื้อมาดัดแปลงติดตั้งเพิ่มเติมกัน แม้แต่รถที่ผลิตในเมืองไทยก็ยังนิยมติดไฟตัดหมอก

ปัจจุบันคนไทยนิยมตกแต่งรถด้วยไฟตัดหมอก และมักเปิดใช้อย่างพร่ำเพรื่อ ผิดวิธี ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้เส้นทางรายอื่นๆ กล่าวคือ ไฟตัดหมอก เป็นไฟที่ให้ความสว่างสูง ส่วนใหญ่หลอดจะเป็สปอตไลท์ จึงสามารถส่องสว่างไปได้ไกล ซึ่งหากเปิดใช้ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม แสงจากหลอดไฟตัดหมอก จะไปแยงและ รบกวนสายตาผู้ที่ขับรถสวนทางมา ทำให้ตาพร่ามัว จึงมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้สูงกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเสนอแนะให้ผู้ขับรถเปิดใช้ไฟตัดหมอก อย่างปลอดภัยและถูกวิธี โดยให้เปิดใช้ไฟตัดหมอกในกรณีต่างๆ ดังนี้

1.ฝนตกปรอยๆ หรือตกหนัก ไฟตัดหมอกจะมีประโยชน์มาก แม้จะเป็นช่วงกลางวันก็ตามเพราะมันสามารถช่วยให้รถที่สวนมามองเห็นไฟตัด หมอกอย่างชัดเจน

2.เมื่อขึ้นภูเขาสูงหรือยอดเขา เช่นภูเรือ-ดอยสุเทพ เป็นต้น โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวทั้งตอนเช้าและ ตอนกลางคืน เพราะที่สูงๆนั้นหมอกจะมีมากกว่าปกติ

3.ในช่วงกลางคืนหลังฝนหยุดตกหรือถนนยังเปียกอยู่ ซึ่งไฟตัดหมอกจะช่วยให้ทัศนะวิสัยในการขับขี่ของ ดีขึ้น เพราะไฟหน้าปกติของเราถูกน้ำสะท้อนไปเกือบหมดแล้ว

4.ทุกกรณีที่มีหมอกหรือควันเกิดขึ้นบนท้องถนนที่บดบังทัศนะวิสัยให้มองเห็นได้น้อยกว่า 50เมตร

5.ปิดไฟตัดหมองทันทีที่มีรถสวนมา ในระยะที่มองเห็นไฟห้าของรถที่สวนมาได้อย่างชัดเจน แม้แต่รถที่มีระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติก็จะสั่งปิดไฟตัดหมอกคงไว้เฉพาะไฟ ปกติเมื่อสัญญานจับได้ว่ามีไฟสะท้อนมาในมุมตรงข้าม

สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่า การใช้ไฟตัดหมอกอย่างถูกวิธี จะก่อให้เกิดประโยชน์และช่วยเพิ่มความปลอดภัยใน การใช้รถใช้ถนน ทำให้สามารถมองเห็นรถคันอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน ในทางตรงกันข้าม การเปิดไฟตัดหมอกอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่มีมารยาท และผิดวิธี นอกจากจะรบกวนสายตาและสร้างความรำคาญให้กับผู้ขับรถรายอื่นๆ ที่ร่วมใช้เส้นทางแล้ว ยังเพิ่มโอกาสทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าปกติอีกด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอให้ท่านเจ้าของรถที่ติดตั้งไฟตัดหมอก เปิดใช้อย่างถูกวิธีและใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ตลอดจนต้องมีความเอื้ออาทร ขับรถอย่างมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดอุบัติภัยทางท้องถนนได้....

ที่มา: http://www.avanzathai.com/